“ช่างจิต” เจ้าของห้องตัดเสื้อ ตั้งโต๊ะหน้าร้าน แจกชุดนักเรียนกว่า 300 ตัว ให้เด็กบ้านยากจน


วันนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวดี ๆ ของ “วิจิตร ดีแป้น” หรือ “ช่างจิต” เจ้าของห้องตัดเสื้อย่านเมืองนนท์เข้าใจปัญหาของลูกค้า จึงลุกขึ้นมานำเสื้อผ้านักเรียนที่เก็บสต๊อกอยู่กว่า 300 ตัว ตั้งโต๊ะขึ้นป้ายหน้าร้านเป็นจุดแบ่งปันชุดนักเรียน จนกลายเป็นพื้นที่อาณาจักรแห่งแบ่งปันให้กับคนที่อยากช่วยเหลือให้คนที่ยังไม่พร้อม ที่จะเกิดขึ้นในทุก ๆ ปี ไปแบบนี้เรื่อย ๆ

“เราทุกคนทำได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งโต๊ะแจกเสื้อนักเรียน อย่างอื่นก็ได้ ขอเพียงคุณเริ่มก็แบ่งปันสิ่งดี ๆ กับเพื่อนร่วมสังคมได้” ช่างจิตกล่าวเริ่มต้นก่อนจะพาเราไปลัดเลาะความคิดที่ก่อร่างสร้างตัวให้คนเล็ก ๆ กลายเป็นผู้สร้างอาณาจักรแห่งการแบ่งปัน

ช่างจิตบอกจุดเริ่มต้นในการแบ่งปันชุดนักเรียนเกิดจากความซึมซับวิถีชีวิตคนภาคอีสาน ซึ่งในสมัยนั้นนิสัยของคนต่างจังหวัดมักชอบที่จะแบ่งปัน โดยภาพที่เห็นได้ชัด ๆ เลยก็คือเวลาที่บ้านไหนทำกับข้าวกับปลา ก็จะให้ลูกหรือหลานวิ่งมาเอาแบ่งกินบ้านใกล้เรือนเคียง

“30 กว่าปีที่แล้วที่โตที่ขอนแก่น ภาพเพื่อน ๆ หรือผมเองก็ตามวิ่งไปพร้อมกับชามกับข้าวนี้ประจำ มันก็น่าจะเกิดจะตรงนี้ที่ซึมซับเรามาโดยไม่รู้ตัว คือแม้ว่าพวกเราบ้าน ๆ จะไม่ได้มีฐานะดี ฐานะค่อนข้างยากจนด้วยซ้ำ แต่อะไรที่พอแบ่งปันกันได้เราก็แบ่งกันช่วยกัน”

และจากวัฒนธรรมติดตัวมาเป็นนิสัยช่างจิตสอดแทรกเรื่องของแบ่งปันและช่วยเหลืออะไรต่าง ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ แก่คนรอบข้างอยู่เสมอ โดยค่อย ๆ เติบโตตามกำลังของฐานะ ภาระหน้าที่หัวหน้าครอบครัวและหน้าที่การงาน

“ก่อนหน้าที่จะทำตู้ปันสุขแจกชุดนักเรียนช่วงต้นเดือนมิถุนายน มีผู้ปกครองเอาเสื้อที่เก่ามากเลยมาปัก ก็เปลี่ยนเสื้อให้ใหม่และก็คิดค่าปักเสื้อไปหน่อย (ยิ้ม) คือมันมีความสุข เราได้ทำ ถึงเป็นส่วนเล็ก ๆ ก็ถือว่าได้ทำ

“เราทำงานเสื้อผ้าเรารู้ว่าผู้ปกครองลำบาก ลำบากตลอดด้วยช่วงเปิดเทอมยิ่งลำบากขึ้นไปใหญ่ ก็ไม่คิดอะไรมากซับซ้อนเห็นผู้ปกครองลำบากมาในตอนนี้เราพอมีกำลัง เป็นเจ้าของร้านเองแล้ว ดูแลลูก 2 โต ๆ กันแล้วก็โทรหาพี่สาวทำกันเอาเสื้อในสต๊อกที่เรามีมาแจก”

“สมัยเด็ก ๆ อย่างที่เล่าไปที่บ้านไม่ได้ร่ำรวย ออกจะลำบากด้วยซ้ำ ชุดนักเรียนอย่างชุดลูกเสือ หมวกลูกเสือ น้าก็เป็นคนหาคนตัดให้ใส่

แต่ด้วยความที่สีมันอ่อนกว่าคนอื่น เราก็ไม่อยากใส่ กลัวไม่เหมือนเพื่อน มันก็ย้อนมามองตัวเรา ผู้ปกครองก็มีมาเหมือนผมลำบากมาสู้ชีวิตในกทม. เยอะ แล้วน้อง ๆ ที่ผู้ปกครองเขาแย่ในช่วงนี้ละจะรู้สึกแบบเราไหม” ช่างจิตเล่าถึงความรู้สึกสมทบของการตั้งตู้ปันสุข ‘ชุดนักเรียน’

“เสื้อนักเรียนตัวหนึ่ง 100 กว่าบาทแล้ว กางเกง 200 บาทขึ้น ไม่รวมค่าปักชื่อ ตราโรงเรียน ไหนจะเข็มขัด รองเท้า ถุงเท้า คนหนึ่งใส่กี่ชุด ครบหมดหลักพันบาทต่อคน และถ้ามีลูก 2 คน 3 คน เดือนนี้หนักเลยนะ

“เราก็ดีใจที่เราแบ่งเบาช่วยเขาได้บ้าง เราได้เห็นรอยยิ้มของเขา เขาตะโกนบอกขอบคุณ บางคนยกมือไหว้ ก็ปลื้มใจ มีความสุขมาที่ได้ทำ หยิบกันไปคนละตัวสองตัว บางคนหยิบไปลูกใส่ไม่ได้ก็เอามาคืนให้คนอื่นได้เอาไปใช้”

“เรามีวันนี้ส่วนหนึ่งก็การอุดหนุนของลูกค้า น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งพา ทุก ๆ ปีเราเจอหน้ากันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของกัน ตอนนี้ลำบากไปหมดเราพอไหวเราก็ช่วยแบ่งเบาช่วย ก็จะทำไปเรื่อย ๆ” ช่างจิตระบุโครงการตู้ปันสุข ‘ชุดนักเรียน’ ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นอีกในปีหน้า

เพราะนักเรียนอีกหลายต่อหลายคนยังขาดแคลนและอุปกรณ์ชุดนักเรียนของเด็ก ๆ ไม่ใช่มีเพียงแค่เสื้อเท่านั้u ยังมีรองเท้า มีหมวก ฯลฯ สำหรับการเรียนการสอนในหนึ่งปีการศึกษา

“มีผู้ปกครองบางคนก็ขอจองรองเท้านักเรียน มีนี้ไหมถ้ามีเก็บไว้ให้เขาหน่อยนะ ก็เลยติดป้ายหน้าร้านรับบริจาค รองเท้า หมวกลูกเสือ วางแผนไว้ว่าปีหน้า ก็มีผู้ปกครองเข้าโทรเข้ามาจะนำเสื้อผ้ามาช่วย ก็ดีใจนะจุดเล็ก ๆ ของเรากลายเป็นพื้นที่ช่วยเหลือ สังคมมันจะดีได้ถ้าเราช่วยกันครับไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม” ช่างจิตกล่าวทิ้งท้าย

แหล่งที่มา : NewsClear

เรียบเรียงโดย ยิ้มสยาม

Leave a Reply

Your email address will not be published.