หนุ่มเลี้ยงปลาช่อนขุน ส่งร้านอาหาร ขายออนไลน์ สร้างรายได้เฉียดแสนต่อเดือน


วันนี้เรามีสาระน่ารู้เกี่ยวกับ “ปลาช่อน” คุณภาพ น้ำหนักเป๊ะ ๆ ตรงตามความต้องการของตลาด ไปฟังหนุ่มหล่อ เจ้าของกิจการฟาร์มปลา ที่ ต.ปากแรต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี บอกถึงวิธีเลี้ยง

ก่อนเลี้ยงต้องรู้จัก “อุปนิสัยของปลา”

นายณัฏฐกิตติ์ สุขสันต์ไพศาล เจ้าของฟาร์มปลาช่อน ต.ปากแรต อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพาะเลี้ยงปลาช่อนคุณภาพ ขนาดใหญ่จัมโบ้ อายุประมาณ 8 เดือน คัดแยกออกเพื่อส่งร้านอาหาร ซึ่งเป็นการสานต่ออาชีพเลี้ยงปลาช่อนจากรุ่นคุณพ่อมาสู่รุ่นลูก จวบจนปัจจุบันรวมระยะเวลากว่า 30 ปี

นายณัฏฐกิตติ์ เปิดเผยว่า การเลี้ยงปลาช่อนจะต้องศึกษาถึงอุปนิสัยในการกินอยู่ เนื่องจากปลาช่อนมีนิสัยเป็นสัตว์นักล่า ชอบแถกหรือมุดดิน ทำให้ดินขอบตลิ่งพัง จึงไม่ควรเลี้ยงหนาแน่เพราะปลาจะเกิดความเครียด

“ทางฟาร์มจะนำลูกปลาช่อนขนาด 3 นิ้ว จำนวน 10,000 ตัว มาปล่อยเลี้ยงในบ่อคอนกรีตลึก 6 เมตร ซึ่งมีข้อดีจะทำให้ปลาที่ได้มีความแข็งแรงอยู่ได้นานหลายวัน และทนทานต่อการขนส่ง ส่วนการดูแลเพียงเปลี่ยนน้ำในบ่อวันละ 1 ครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงหากเกิดโรคระบาดและโรคติดเชื้อ”

อายุ 2-3 เดือน คัดแยกเข้าระบบ “ขุน”

สำหรับช่วงการเลี้ยงปลาช่อน จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงอนุบาล จะเลี้ยงด้วยอาหารที่มีโปรตีนสูง อย่างปลาทะเลสดมาบดเลี้ยงประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นจะคัดแยกขนาดเพื่อเข้าระบบขุน โดยใช้อาหารที่มีส่วนผสมของเศษขนมปัง รำข้าว และปลาทะเลสด ให้อาหารเวลาเช้าและเย็น

ทั้งจับขาย-แปรรูปจำหน่ายในร้านอาหาร

เมื่อเลี้ยงมาจนครบ 8 เดือน จะเริ่มจับขาย โดยทางฟาร์มจะทำการจับปลาตามความต้องการของลูกค้า สนนราคา 120-140 บาทต่อกิโลกรัม แตกต่างกันไปตามขนาด นอกจากนั้นยังนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าจำหน่ายภายในร้านอาหารพนิดาปลาช่อน ซึ่งเป็นกิจการของทางครอบครัว

ปลาเขมรราคาถูกกว่าครึ่ง สู้ด้วย”คุณภาพ-ปลอดโรค”

“ขณะนี้ประเทศไทยมีการนำเข้าปลาช่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม กัมพูชา ราคาจำหน่ายถูกกว่าครึ่ง ทำให้พ่อค้าหันไปรับซื้อมาจำหน่ายกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อเกษตรกรผู้ผลิตปลาช่อนของไทย แต่ทางฟาร์มของเรามีการเลี้ยงแบบประณีต ใส่ใจทุกขั้นตอน

จับเมื่ออายุถึงเกณฑ์ และที่สำคัญคือ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะกับปลาในบ่อ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ส่งผลทำให้ปลาช่อนที่ฟาร์ม มีคุณภาพดี ตัวโต เนื้อแน่น มันน้อย ไม่เหม็นสาบโคลน และปลาทุกตัวจะมีไข่

ใช้ช่องทางออนไลน์ ขายผ่าน”เฟซบุ๊ก”

สำหรับท่านที่สนใจเทคนิคการเลี้ยง และอยากอุดหนุนปลาช่อนจากเกษตรกรไทย สามารถติดต่อผ่านเฟซบุ๊ก “ร้านอาหารพนิดาปลาช่อน” หรือโทรศัพท์หมายเลข 08-2198-7955

แหล่งที่มา: thairath

เรียบเรียงโดย ยิ้มสยาม

Leave a Reply

Your email address will not be published.